ข้อจำกัด ของการวิเคราะห์งบการเงิน (Limitations of Financial Statement Analysis)

Posted: กรกฎาคม 19, 2011 in investment

ขออนุญาตสรุป ‘ข้อจำกัด ของการวิเคราะห์งบการเงิน (Limitations of Financial Statement Analysis)’

จากหนังสือ การวิเคราะห์รายงานทางการเงิน (Financial Report Analysis) เขียนโดย รศ.วันเพ็ญ วศินารมณ์ ด้วยสำนวนของผม มานำเสนอนะครับ

การวิเคราะห์รายงานทางการเงิน โดยใช้เครื่องมือทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ Horizontal Analysis , Vertical หรือ Common-Size Analysis , Ratio Analysis มีข้อจำกัดดังนี้

1.Estimates

ตัวเลขในงบฯหลายรายการเกิดจากการประมาณการ เช่น การประมาณหนี้ที่คาดว่าจะเก็บเงินไม่ได้ การคิดค่าเสื่อมราคา การประมาณการค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่เกิดจากการประกันสินค้า เป็นต้น ถ้าการประมาณการไม่ถูกต้อง จะทำให้ตัวเลขในงบการเงินไม่ถูกต้อง และผลการวิเคราะห์ก็จะไม่ถูกต้อง

2.Atypical Data

บางกิจการมีการปิดบัญชีช่วงฤดูกาลที่ขายดี ทำให้สินทรัพย์และหนี้สินมากหรือน้อยกว่าโดยเฉลี่ยทั้งปี

3.Cost

ตัวเลขในงบการเงินจะใช้ราคาทุน ดังนั้นการเปรียบเทียบงบการเงินที่ไม่ได้ปรับอัตราเงินเฟ้อทำให้ตีความผิดได้ เช่น เปรียบเทียบยอดขาย 2 ปี พบว่ามีอัตราการเพิ่มของยอดขาย 5% ถ้าอัตราการเงินเฟ้อ 5% แสดงว่ากิจการมิได้เติบโตเลย หรือการเปรียบเทียบมูลค่าสินทรัพย์2ชิ้น ที่ซื้อในเวลาที่ต่างกัน อาจตีความผิดได้

4.Diversification

ธุรกิจขนาดใหญ่ จะประกอบธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้หาธุรกิจที่คล้ายกันเพื่อเปรียบเทียบได้ยาก ในUSA บริษัท Pepsi ประกอบธุรกิจขายน้ำอัดลม และร้านอาหาร เช่น Pizza Hut , Kentucky Fried Chicken ขณะที่บริษัท Coke ประกอบธุรกิจขายน้ำอัดลม และผลิตขวด

สำหรับในไทย SCCC ทำธุรกิจปูนซีเมนต์อย่างเดียวไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับ SCC ซึ่งประกอบธุรกิจปูนซีเมนต์คิดเป็นรายได้เพียงประมาณร้อยละ20ของรายได้รวม แต่ประกอบธุรกิจปิโตรเคมี และกระดาษด้วย

5.Alternative Accounting Methods

เนื่องจากวิธีปฏิบัติทางบัญชีที่ต่างกัน ทำให้กำไรที่รายงานออกมามีคุณภาพที่แตกต่างกันด้วย , มีหลักการบัญชีสำหรับการวัดมูลค่าหรือการนำเสนอหลายวิธี สำหรับเหตุการณ์อย่างเดียวกัน ผู้บริหารมักเลือกหลักการบัญชีที่เป็นประโยชน์กับตัวเลขกำไร ตนเอง หรือกิจการ ส่งผลให้ตัวเลขสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ และค่าใช้จ่าย แตกต่างกัน เช่น การเลือกคิดค่าเสื่อมราคาว่าจะคิดแบบเส้นตรงซะทุกรายการ หรือคิดให้สอดคล้องกับความจริงหากต้องขายสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากอย่างมีนัยสำคัญ , การวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร เพื่อศึกษาว่ากิจการมีผลการดำเนินการอย่างไร ในภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรือง และในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือไม่ว่าจะเป็นการที่รายได้เติบโต แต่กำไรไม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นควรดูว่ากิจการยังรักษาอัตรากำไรไว้ได้หรือไม่ การศึกษาแนวโน้มของรายได้ และกำไรย้อนหลังไปหลายๆปีจะทำให้เห็นภาพวัฏจักรของธุรกิจและความสม่ำเสมอในการหากำไร , ควรไปอ่านหลักการบัญชีที่ผู้บริหารเลือกใช้ในหมายเหตุประกอบงบฯ แน่นอนห้ามพลาดการอ่านรายงานผู้สอบบัญชีด้วยเพราะถือเป็น ‘the must‘ อ่านเพื่อให้รู้ว่ามีสัญญาณที่ผู้สอบได้กลิ่นตุๆหรือไม่ ปล.ถ้าผู้สอบบอกว่าหาสิ่งผิดปกติไม่เจอ ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีขยะซ่อนอยู่ใต้พรมนะ หุหุ

6.เหตุ ที่กระทบต่อความสามารถในการหากำไร และความอยู่รอดของธุรกิจ อาจไม่แสดงในงบการเงิน

เช่น ข้อมูลบอกว่า market share ลดติดกันมาหลายไตรมาสแล้ว และมีแนวโน้มลดลงต่อไป , ทะเลาะกับลูกค้า , การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค , การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี , การเปลี่ยนระบบบริหาร , การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายระเบียบข้อบังคับกติกาในการค้า , การที่สินค้าทดแทนกำลังมาแรง , การยกเลิกส่วนงาน ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่แสดงอยู่ในรายงานประจำปีเลยก็เป็นได้

7.Lagging Indicator

การวิเคราะห์งบการเงิน เป็นการวเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อนำผลของการวิเคราะห์ไปช่วยพยากรณ์อนาคต อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะเกิดในอนาคตอาจต่างไปจากอดีต

8.Account Classification Differences

กิจการมักจะจัดประเภทของรายการที่แสดงในงบการเงินแตกต่างกัน เช่น กิจการอาจแสดงค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเป็นรายการในงบกำไรขาดทุน แต่บางกิจการอาจรวมค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเป็นรายการในต้นทุนของสินค้าขายและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ทำให้การเปรียบเทียบอัตราส่วนระหว่างกิจการไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้วิเคราห์ควรปรับงบการเงินที่จะนำมาเปรียบเทียบให้มีการจัดประเภทเหมือนกันก่อน และถ้าไม่สามารถจัดประเภทให้เหมือนกันได้ ก็ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอในการวิเคราะห์

การแสดงความเห็นถูกปิด